เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ได้จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568” (Thailand Research Expo 2025) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร งานดังกล่าวนับเป็นเวทีระดับชาติสำหรับการนำเสนอผลงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีของประเทศ โดยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 20 ภายใต้แนวคิด “Research for All: เชื่อมต่ออนาคตไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงศักยภาพของงานวิจัยที่มีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ
หนึ่งในกิจกรรมสำคัญภายในงาน คือ การเสวนาหัวข้อ “ฝ่าวิกฤตเกษตรไทยด้วยเทคโนโลยีจุลินทรีย์” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักวิจัยที่มีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีจุลินทรีย์สำหรับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร. กล้าณรงค์ ศรีรอต ประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการเกษตร สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดการเสวนา ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของประเด็นเทคโนโลยีจุลินทรีย์ต่อการขับ เคลื่อนระบบเศรษฐกิจฐานชีวภาพของประเทศ ในงานเสนาดังกล่าวได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานได้แก่ รศ.ดร. อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รศ.ดร. จินตนา อันอาตม์งาม จากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผศ.ดร. ภวัต เสรีตระกูล จากมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี นางสาวสุนันท์ นิ่มอนงค์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี และ ดร. บุญเฮียง พรมดอนกอย จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ โดยมี รศ.ดร. สุทธิพันธุ์ แก้วสมพงษ์ จากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเนื้อหาการเสวนามุ่งเน้นการประยุกต์ใช้จุลินทรีย์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาระบบการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยมีการนำเสนอผลงานและแนวทางการวิจัยที่สำคัญ อาทิ
- สถานการณ์โรคและแมลงในประเทศไทย
- การใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ในระบบนิเวศน์ทางดินที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต การลดต้นทุนการผลิต และการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของข้าว
- การพัฒนาเชื้อรา Metarhizium kalasinensis TBRC 13595 เพื่อใช้เป็นชีวภัณฑ์ควบคุมหนอนด้วงดำ Alphitoblus diaperinus (Panzer) ในฟาร์มไก่
- การศึกษาผลของเชื้อแบคทีเรีย Bacillus megaterium (เชื้อบีเอ็ม) ที่มีผลต่อต้นข้าว โดยเทคนิค Transcriptome และการพัฒนาหัวเชื้อบีเอ็มรูปแบบกระดาษร่วมกับการเพาะเลี้ยงเชื้อบีเอ็มขยายเพื่อใช้ในการเพาะปลูกข้าว
เวทีเสวนาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีจุลินทรีย์ในการรับมือกับความท้าทายของภาคการเกษตรไทย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การลดการใช้สารเคมี และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรในระดับประเทศ